Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

Facebook ประกาศแล้ว! คนยิงแอดต้องจ่าย Vat 7% ภาษี e-Service

Facebook ประกาศแล้ว! คนยิงแอดต้องจ่าย Vat 7% ภาษี e-Service เก็บใครกันแน่?

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทยอย่าง Facebook ได้ออกมาประกาศว่า ผู้ใช้งานที่ซื้อโฆษณาเฟสบุ๊ค จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมาย “การจัดเก็บภาษี e-Service” โดยเฟสบุ๊คเปิดให้ผู้ใช้บริการโฆษณาเข้าไปกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเริ่มจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

หลังจากกรมสรรพากรประกาศใช้กฎหมาย “การจัดเก็บภาษี e-Service” จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีรายได้ในประเทศไทย และเปิดให้ลงทะเบียน VES (Vat for  Electronic Service) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา เหล่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ก็พากันขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรเป็นจำนวนมาก โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า ภาษี e-Service จะทำรายได้ให้ไทยสูงถึงประมาณปีละ 5 พันล้านบาท ซึ่งนี่เป็นตัวเลขประมาณการณ์ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด

e-Service จะทำรายได้ให้ไทยสูงถึงประมาณปีละ 5 พันล้านบาท

กรมสรรพากรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาษี e-Service จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น ระหว่างแพลตฟอร์มไทยกับแพลตฟอร์มต่างชาติ ทำให้แพลตฟอร์มต่างชาติต้องเสียภาษีเท่าเทียมกับแพลตฟอร์มที่ดำเนินกิจการในไทย

ในประเด็นที่หลายคนอาจจะสงสัย ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้จะผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้บริการหรือไม่? ทางกรมสรรพากรให้ข้อมูลว่า จากกรณีศึกษาในต่างประเทศพบว่า หากเป็นแพลตฟอร์มที่มีการแข่งขันสูง เช่น ผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง ดูหนัง ฟังเพลง อาจไม่มีการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้บริโภค เนื่องจากต้องรักษาฐานลูกค้า แต่แพลตฟอร์มประเภทที่มีการแข่งขันต่ำอาจเกิดการผลักภาระขึ้นได้

ในกรณีของ Facebook ผู้ใช้บริการโฆษณาจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไม่ว่าจะเป็นการซื้อโฆษณาเพื่อธุรกิจ หรือเพื่อจุดประสงค์ส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการนิติบุคคลที่มีรายได้สูงกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำใบเสร็จค่าโฆษณาจากเฟสบุ๊คมาลดหย่อนภาษีได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
สามารถนำใบเสร็จค่าโฆษณามาหักค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษี เพื่อลดต้นทุนในการประกอบกิจการ

ผู้ใช้บริการโฆษณาจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

เป้าหมายในการจัดเก็บภาษี e-Service ของกรมสรรพากร คือการสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มต่างชาติยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องศึกษาข้อกำหนดของภาษี e-Service ให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ ไม่ให้ได้รับกระทบจากการจัดเก็บภาษีในครั้งนี้

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :

  • www.youtube.com, The Standard Wealth, เก็บภาษี e-Service กระทบเราอย่างไร
  • www.itax.in.th, ภาษี e-Service สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ

 

Leave a comment