Skip to content Skip to sidebar Skip to footer

PDPA ส่งผลกระทบอย่างไรต่อ Content Creator

PDPA Content Creator ถ่ายภาพติดคนอื่น

PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมายที่เพิ่งถูกบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ขึ้นชื่อว่าเป็นกฎหมาย อาจจะฟังดูน่าสับสนและทำความเข้าใจได้ยากใช่มั้ยคะ วันนี้ซันนี่สรุปข้อมูลมาให้อ่านกันแบบที่เข้าใจได้ง่ายแสนง่าย แล้วคุณจะรู้ว่าจริงๆ แล้ว PDPAไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิดเลยค่ะ

Q : PDPA คืออะไร มีไว้ทำไม?

A : คือกฎหมายมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนคนทั่วไป

Q : ข้อมูลส่วนบุคคลคืออะไร?

A : ข้อมูลส่วนบุคคลคือสิ่งที่สามารถระบุตัวตนของบุคคลนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมค่ะ เช่น ชื่อ, ที่อยู่, เบอร์โทรฯ, IP address หรือแม้แต่ภาพเบลอของบุคคลนั้นก็ตาม

Q : ถ้าอย่างนั้นเราก็ถ่ายรูปติดหน้าคนอื่นไม่ได้ใช่มั้ย ต่อให้เบลอหน้าคนคนนั้นก็ตาม?

A : ต้องดูก่อนว่าผู้ที่ถ่ายภาพคือใคร และถ่ายภาพไปเพื่ออะไรค่ะ ในกรณีที่เราเป็นประชาชนคนทั่วไป ถ่ายภาพเอาไว้อัพลงโซเชียลมีเดีย แม้ว่าเราจะมี followers หลักหมื่นก็ตาม แบบนี้เราสามารถถ่ายภาพโดยติดคนอื่นเป็นพื้นหลังได้โดยไม่จำเป็นต้องเบลอภาพค่ะ (แต่การนึกถึงใจเขาใจเราและช่วยเบลอภาพบุคคลที่ถูกถ่ายติดมาโดยไม่ได้ตั้งใจนั้น ก็จะน่ารักมากๆ เลยค่ะ ^^)

Q : ถ้าอย่างนั้นเราจะถ่ายภาพใครลงโซเชียลของเราก็ได้เลยเหรอ

A : ก่อนอื่น เราต้องดูเจตนาของผู้ถ่ายค่ะ ถ้าแค่บังเอิญถ่ายติดเป็นพื้นหลัง และบุคคลที่ถูกถ่ายติดมาไม่ใช่สาระสำคัญของภาพ แบบนี้ถ่ายและลงภาพได้ค่ะ 

แต่ ถ้าหากว่าภาพที่เราถ่ายไปสร้างความเสียหายให้กับคนคนนั้น ต่อให้เราจะเป็นบุคคลทั่วไปและถ่ายไว้ลงโซเชียลฯ ส่วนตัวก็ตาม เขาก็สามารถฟ้องเราได้โดยใช้กฎหมายแพ่งว่าด้วยเรื่องละเมิดค่ะ ซึ่งการฟ้องเรื่องละเมิดเป็นสิทธิที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA เลยค่ะ

Q : งั้น PDPA ใช้บังคับกับใคร?

A : ใช้บังคับแก่บริษัท, หน่วยงาน, องค์กร หรือบุคคลที่จะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์โดยตรง ไม่ว่าเพื่อเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม 

ยกตัวอย่างเช่น

  • หน่วยงานรัฐที่ได้ข้อมูลส่วนตัวจากเรา เมื่อเราไปกรอกเอกสารร้องเรียนหรือขอใช้บริการ
  • ค่ายโทรศัพท์ที่รู้ประวัติส่วนตัวและเบอร์โทรศัพท์ของเรา อาจนำเบอร์ไปขายให้บริษัทประกัน
  • เว็บไซต์ Online Shoping ที่รู้ประวัติการค้นหาสินค้า และนำข้อมูลนั้นไปประมวลผลเพื่อยิง Ads สินค้าที่เราอาจจะสนใจมาในการเข้าเว็บไซต์ครั้งถัดไป
  • บริษัทที่เราไปสมัครงาน และมีข้อมูลส่วนตัวของเรา
  • Influencer, Youtuber หรือผู้ที่ถ่ายคลิปและรูปโดยอัพโหลดลงสาธารณะในเชิงพาณิชย์/หากำไร ซึ่งอาจถ่ายติดบุคคลอื่นโดนไม่ได้ตั้งใจ

ฉะนั้น หากกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างเราๆ ก็คงกระทบในแง่ของการได้ประโยชน์ค่ะ เพราะ PDPA เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ประชาชนได้รับประโยชน์เต็มๆ

สรุป

  • PDPA ใช้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนอย่างเราๆ 
  • PDPA ใช้บังคับกับบุคคล, หน่วยงาน, องค์กร ที่จะนำข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์
  • การถ่ายภาพ/คลิปติดคนอื่นลงในโซเชียลโดยไม่แสวงหาผลกำไร สามารถทำได้ เว้นแต่ภาพ/คลิปนั้นทำให้คนอื่นเสียหาย เขาสามารถฟ้องเราได้โดยใช้กฎหมายแพ่ง เรื่อง ‘ละเมิด’
PDPA คุ้มครองใคร
Q : Influencer หรือ Youtuber ก็คือประชาชนทั่วไป ทำไม PDPA ถึงใช้บังคับด้วยล่ะ?

A : กรณีนี้จะต่างจากเรื่องบุคคลทั่วไปถ่ายภาพติดคนอื่นลงในโซเชียลฯ ส่วนตัวค่ะ เพราะภาพและคลิปที่ Influencer, Youtuber, นักรีวิวทั้งหลายถ่ายไป ก็เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ พูดง่ายๆ คือมีเรื่องกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นจึงถือเป็นการหาประโยชน์จากภาพหรือคลิปโดยตรง จึงอยู่ในขอบเขตที่ PDPA คุ้มครองเราค่ะ 

Q : แล้วถ้าสมมติว่าเราเป็น Youtuber อยากจะรีวิวอาหารในร้านที่มีคนเยอะ แบบนี้ต้องทำยังไง

A : การถ่ายคลิปในร้านอาหารที่มีคนเยอะ เป็นสถานที่ที่ทุกคนคาดหมายได้อยู่แล้วว่าถ่ายมุมไหนก็ต้องติดคน ร้านอาหารไม่ใช่ที่ส่วนตัว ฉะนั้นถ้า Youtuber ถ่ายติดใครมาเป็นพื้นหลัง ก็ถือเป็นการได้มาโดยชอบธรรมค่ะ

การได้มาโดยชอบธรรม : ได้ข้อมูลซึ่งเป็นรูปหรือคลิปนั้นมาโดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย

แต่!

แต่นะคะ ถ้าไม่ใช่แค่การถ่ายติดเป็นพื้นหลัง แต่บุคคลนั้นปรากฎตัวอยู่นาน, เป็นสาระสำคัญของคลิป หรืออยู่ในอิริยาบถที่ไม่อยากให้ใครเห็น หรือที่ร้ายแรงที่สุดคือบุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากรูปหรือคลิปที่ถูกถ่ายไป แบบนี้ถือว่า Youtuber ทำผิด PDPA อาจถูกดำเนินการทางกฎหมายได้ค่ะ

สรุป PDPA

วิธีหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินการทางกฎหมาย

กรณีที่เราเป็น Influencer, Youtuber หรือนักรีวิวที่ต้องถ่ายภาพ/คลิปลงโซเชียลฯ เราสามารถเลี่ยงการถูกดำเนินคดีได้โดยเบลอภาพ/คลิปที่ถ่ายติดบุคคลอื่นมา หรือขอความยินยอมจากบุคคลเหล่านั้นโดยตรงได้เลยค่ะ

Q : การขอความยินยอมทำยังไง?

A : ทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ หรือจะขอความยินยอมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ค่ะ พูดภาษาง่ายๆ ก็คือขอความยินยอมโดยขออนุญาตผ่านไลน์, ผ่านแชทอื่นๆ, ถ่ายคลิปตอนที่ขอเก็บเอาไว้ หรืออัดเสียงเอาไว้ ก็ถือเป็นการขอความยินยอมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้วค่ะ

Q : ถ้าวันหนึ่งคนที่เราเคยขอความยินยอมเค้าไป ต่อมาเค้าไม่ยินยอมแล้ว แบบนี้ต้องทำยังไง?

A : กรณีนี้ถือว่าตลอดระยะเวลาที่เราได้ใช้รูป/คลิปที่ติดบุคคลนั้นมา เราไม่ผิดค่ะ เพราะเราขอและเค้ายินยอมแล้ว แต่ในเมื่อหลังจากนี้บุคคลนั้นเพิกถอนความยินยอม สิ่งที่เราต้องทำก็คือเบลอภาพ, ตัดออก หรือไม่ใช้รูป/คลิปนั้นต่อ ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนดำเนินการทางกฎหมายว่าด้วย PDPA ได้ค่ะ

Q : แสดงว่าทุกคนสามารถเพิกถอนความยินยอมได้ตลอด

A : ถูกต้องค่ะ

 

PDPA Content Creator ดำเนินการทางกฎหมาย

การบังคับใช้ PDPA อย่างเต็มรูปแบบทำให้เกิดกระแสต่างๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการล้อเลียนการถ่ายภาพติดผู้อื่นลงในโซเชียลด้วยประโยค ‘ระวังPDPAนะ!’ แต่ในตอนนี้ทุกคนคงรู้แล้วใช่มั้ยล่ะคะ ว่าจริงๆ แล้ว PDPA ไม่ได้ใช้แบบนั้น และยิ่งไปกว่านั้นแล้วยังเป็นประโยชน์กับประชาชนคนทั่วไปแบบเราๆ มากกว่าจะเป็นโทษเสียอีก

รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมตรวจสอบเอกสารก่อนสมัครใช้บริการของอะไร หรือตรวจสอบ Pop-Up เวลาเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่างๆ กันด้วยนะคะ ว่าทางผู้ให้บริการมีให้เรากดยินยอมให้ข้อมูลอะไรไปบ้าง เพื่อสิทธิในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเราเองค่ะ

 


ขอบคุณข้อมูลจาก : 

Leave a comment